วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

พรบ.ด้านคอมพิวเตอร์ มาตราที่ 7 - 15

การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์

     มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๗ ตรงกับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๕ เพียงแต่เปลี่ยนจาก “ระบบคอมพิวเตอร์” เป็น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ดังนั้นจึงต้องพิจารณานิยามศัพท์คำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ซึ่งอธิบายไว้ในบทที่ ๑ แล้ว
ที่ต้องพึงระลึกก็คือว่า เจตนารมณ์ของการบัญญัติความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ซึ่งหมายถึงข้อมูลนั้นเป็นการเก็บหรือส่งด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นจึงไม่น่าจะหมายความรวมถึงข้อมูลที่บรรจุไว้ในแผ่นซีดี หรือแผ่นดิสเกตต์ อย่างไรก็ตามเมื่อใดที่มีการนำซีดีหรือแผ่นดิสเกตต์นั้นเล่นผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก็จะอยู่ในความหมายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ทันที
การดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

     มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิดของมาตรา ๘ คือ
     (๑) กระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้
ตามคำอธิบายของเนคเทคประกอบการเสนอร่างกฎหมายมีดังนี้
การดักรับข้อมูลในมาตรานี้หมายถึง การดักรับโดยวิธีการทางเทคนิค (technical means) เพื่อลักลอบดักฟัง (listen) ตรวจสอบ (monitoring) หรือติดตามเนื้อหาสาระของข่าวสาร (surveillance) ที่สื่อสารถึงกันระหว่างบุคคล หรือเป็นการ๑๒
กระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหาของข้อมูลโดยตรงหรือโดยการเข้าถึงและใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือการทำให้ได้มาซึ่งเนื้อหาของข้อมูลโดยทางอ้อมด้วยการแอบบันทึกข้อมูลสื่อสารถึงกันด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่คำนึงว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บันทึกข้อมูลดังกล่าวจะต้องเชื่อมต่อเข้ากับสายสัญญาณสำหรับส่งผ่านข้อมูลหรือไม่เพราะบางกรณีอาจใช้อุปกรณ์เช่นว่านั้นเพื่อบันทึกการสื่อสารข้อมูลที่ได้ส่งผ่านด้วยวิธีการแบบไร้สายก็ได้ เช่นการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ การติดต่อโดยใช้เทคโนโลยีไร้สายประเภท wireless LAN เป็นต้น ซึ่งนอกจาการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อบันทึกข้อมูลที่มีการส่งผ่านกันแล้ว ยังรวมถึงกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ หรือรหัสผ่านต่างๆ เพื่อทำการแอบบันทึกข้อมูลที่ส่งผ่านถึงกันด้วย
ต้องอย่าลืมว่าการกระทำความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำได้กระทำไป “โดยมิชอบ” ด้วย ซึ่งหมายถึงการไม่มีอำนาจกระทำ ดังนั้น ถ้าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ไม่ว่าโดยกฎหมายหรือโดยการอนุญาตของเจ้าของสิทธิ ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด
     (๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์
การดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นนี้จะต้องเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงไม่หมายความรวมถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บในรูปแบบซีดี หรือดิสเกตต์
     (๓) ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้
การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าลักษณะการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นผู้ส่งต้องการให้เป็นเรื่องเฉพาะตนไม่ได้ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลนั้นแก่ผู้ใดหรือไม่
การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะจึงต้องพิจารณาจากการมีการเข้ารหัสการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเพียงใด
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะพิจารณาจากเนื้อหาของข้อมูลว่าเป็นความลับหรือไม่ เช่น เนื้อหาของข้อมูลอาจเป็นเรื่องความลับทางการค้า แต่หากผู้ส่งใช้วิธีการส่งที่ไม่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลนั้น ผู้ที่ดักรับย่อมไม่มีความผิด
     (๔) โดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
หมายถึงเจตนาในการกระทำความผิด ๑๓
วัตถุประสงค์ของมาตรา ๘ คือ เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (the right of privacy of data communication) ทำนองเดียวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารรูปแบบที่ห้ามดักฟังหรือแอบบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์
การทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

     มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรานี้หมายถึงการกระทำอันเป็นการรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีองค์ประกอบความผิด คือ
     (๑) กระทำการอันเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมโดยมิชอบ
องค์ประกอบข้อนี้ใช้ถ้อยคำซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ คือคำว่า “ทำให้เสียหาย” และ “ทำลาย” แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการปลอมนั้น มาตรานี้ไม่ได้ยกองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารมา แต่เขียนองค์ประกอบให้ชัดเจนว่าเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ซึ่งเป็นคำสามัญที่เข้าใจได้และแน่นอนว่าต้องคงองค์ประกอบความผิดในเรื่อง “โดยมิชอบ” ไว้เสมอ เพราะมีกรณีจำนวนมากที่ผู้กระทำมีอำนาจและสิทธิที่จะเข้าไปแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้
     (๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
ความหมายของ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” อยู่ในนิยามศัพท์ และจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ต้องเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
     (๓) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
ความผิดตามมาตรา ๙ มุ่งจะคุ้มครองความถูกต้องของข้อมูล (integrity) ความถูกต้องแท้จริง (authentication) และเสถียรภาพหรือความพร้อมในการใช้งานหรือการใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกเก็บไว้บนสื่อคอมพิวเตอร์ได้อย่าง๑๔
เป็นปกติจึงเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับสิ่งของที่สามารถจับต้องได้ (corporeal object)
ตัวอย่างของการกระทำความผิดตามมาตรานี้ ได้แก่ การป้อนโปรแกรมที่มีไวรัสทำลายข้อมูลหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการป้อน Trojan Horse เข้าไปในระบบเพื่อขโมยรหัสผ่านของผู้ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับเพื่อเข้าไปลบ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนข้อมูล เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าการกระทำความผิดตามมาตรานี้มีองค์ประกอบความผิดที่สำคัญคือ “โดยมิชอบ” ดังนั้นหากเป็นการกระทำของบุคคลผู้มีสิทธิโดยชอบก็จะไม่เป็นความผิด เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (traffic data) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารแบบไม่ระบุชื่อ ตัวอย่างเช่น การสื่อสารผ่านระบบ anonymous remailer system หรือการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อการรักษาความลับและความปลอดภัยของการสื่อสาร อาทิ การเข้ารหัสข้อมูล (encryption) เป็นต้น
การกระทำเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นไม่สามารถทำงานตามปกติได้

     มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรา ๑๐ นี้ มีวัตถุประสงค์และองค์ประกอบความผิดคล้ายคลึงกับมาตรา ๙ เพียงแต่เปลี่ยนวัตถุแห่งการถูกกระทำจาก “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” เป็น “ระบบคอมพิวเตอร์” มีองค์ประกอบความผิด คือ
     (๑) กระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ
     (๒) มีเจตนาพิเศษเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้

มีข้อสังเกตว่า องค์ประกอบความผิดข้อที่ (๑) นั้นเป็นเรื่องการกระทำใดๆ ก็ได้ซึ่งกินความหมายกว้างขวางมาก กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงควรหมายถึงการเข้าไปทำกับระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้นหรือไม่
หรือจะหมายถึงการกระทำทางกายภาพอื่นๆ เช่น การระเบิด การวินาศกรรมเพื่อให้มีผลทำลายการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ด้วย เท่าที่มีการอภิปรายกันในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการเป็นไปในแนวทางเดียวกันที่จะให้ขยายรวมถึงการกระทำทางกายภาพ (physical) ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
ส่วนองค์ประกอบความผิดข้อที่ (๒) มุ่งถึงเจตนาพิเศษของผู้กระทำเป็นสำคัญ จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำได้กระทำไปเพื่อค้นหาเจตนาพิเศษดังกล่าวตามหลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
ส่วนถ้อยคำที่ว่า “จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้” ย่อมหมายความว่า ระบบคอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถทำงานได้โดยสมบูรณ์ ดังนั้นถึงแม้ว่าระบบคอมพิวเตอร์จะทำงานได้ แต่เป็นการทำงานที่ไม่สมบูรณ์หรือผิดปกติไป (malfunctioning) ก็ย่อมอยู่ในความหมายของถ้อยคำอันเป็นองค์ประกอบความผิดนี้แล้ว
ตัวอย่างของการกระทำความผิดตามมาตรานี้ อาทิเช่น การป้อนโปรแกรมที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ปฏิเสธการทำงาน (denial of service) หรือทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลงโดยการป้อนไวรัสคอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดผลชะลอการทำงานของระบบเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีอำนาจหรือสิทธิโดยชอบย่อมไม่เป็นความผิดเพราะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดที่ว่า “โดยมิชอบ” ดังเช่น การทดสอบหรือรักษาความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์โดยบุคคลผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้เป็นเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ (owner) หรือผู้ปฏิบัติการ (operator) หรือการปรับแก้ระบบปฏิบัติการ (operating system) ของคอมพิวเตอร์โดยผู้ปฏิบัติการ (operator) ก่อนติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น การติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตซึ่งจะมีผลให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานไม่เป็นปกติทั้งก่อนและหลังการติดตั้งโปรแกรม
ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์รบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข

     มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ความผิดตามมาตรา ๑๑ นี้ คณะกรรมาธิการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่เป็นการบัญญัติเอาผิดแก่การกระทำที่ไม่ถึงกับทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นไม่สามารถทำงานตามปกติได้ แต่เป็นการทำให้เกิดการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข เช่นส่ง e-mail มากจนล้นระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นจนทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของเขา ภาษาอังกฤษเรียกว่า “spamming” องค์ประกอบความผิดของมาตรานี้คือ
     (๑) ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
ความจริงแล้ว “จดหมายอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-mail ก็อยู่ในความหมายของ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” อยู่แล้วตามนิยามศัพท์ แต่คณะกรรมาธิการต้องการให้ชัดเจนเพื่อเป็นการเตือนให้เข้าใจในความหมายขององค์ประกอบความผิดฐานนี้
     (๒) โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูล
องค์ประกอบความผิดนี้สำคัญมากเพราะไม่ใช่เรื่อง “โดยมิชอบ” เหมือนกับความผิดตามมาตราอื่นๆ ในพระราชบัญญัตินี้ แต่เป็นเรื่องปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูล
ขอย้ำว่าการปกปิดหรือปลอมแปลงนี้ต้องเป็นเรื่องของ “แหล่งที่มาของการส่งข้อมูล” ซึ่งตรวจสอบได้โดย “ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” ได้แก่การปกปิดหรือปลอมแปลง IP address และหมายถึงการกระทำที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลและส่งผลให้ไม่อาจตรวจสอบได้ทางระบบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องการปกปิดหรือปลอมแปลงโดยการไม่ใช้ชื่อจริง หรือการเปลี่ยนแปลงใช้ชื่อหรือใช้นามแฝง หรือใช้ email-address ที่ผิดไปหรือเปลี่ยนแปลงไปซึ่งยังตรวจสอบแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลได้อยู่
ความหมายของ “การปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์” ได้มีการอภิปรายและชี้แจงเพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ชัดเจนในการอภิปรายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ในวาระที่ ๒ ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐
     (๓) อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข
องค์ประกอบความผิดข้อนี้ คณะกรรมาธิการเขียนล้อกับองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ดังนั้นจึงน่าจะมีความรุนแรงของการรบกวนพอสมควร ซึ่งต้องใช้มาตรฐานของวิญญูชนเป็นระดับวัดเป็นการพิจารณาแบบ objective มิใช่พิจารณาตามความเป็นจริงแบบ subjective
ข้อสังเกตสำหรับความผิดตามมาตรานี้ ก็คือเป็นบทบัญญัติที่มีโทษปรับสถานเดียวและไม่มีโทษจำคุก จึงถือว่าเป็นโทษที่ค่อนข้างเบา ในประเด็นที่เทียบเคียงกับความผิดฐานบุกรุกซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่คณะกรรมาธิการเห็นว่าความผิดตามมาตรา ๑๒ เรื่อง spamming นี้มักจะไม่ทำกับผู้เสียหายคนเดียว แต่มักจะทำในวงกว้าง หากกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้
บทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับการกระทำที่กอให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือการรักษาความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ

     มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐

     (๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     (๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๑๒ เป็นบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ (ไม่รวมความผิดฐาน spamming ตามมาตรา ๑๑) ซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ดังนั้นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้จะต้องเป็นความผิดใน ๒ มาตราดังกล่าวก่อน ๑๘
ตามมาตรา ๑๒(๑) พิจารณาผลจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ คำว่า “แก่ประชาชน” ควรพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนในวงกว้าง (public) แบบเดียวกับถ้อยคำ “ประชาชน” ในเรื่องฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓
องค์ประกอบที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ “ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่” ซึ่งดูเสมือนว่าจะไม่คำนึงถึงผล แต่จริงๆ แล้วต้องพิจารณาว่าผลคือความเสียหายนั้นต้องเกิดขึ้นแน่ เพียงแต่ว่าถึงแม้จะยังไม่เกิดแต่แน่นอนว่าหากจะเกิดขึ้นในภายหลังก็ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดนี้แล้ว ถ้อยคำนี้จึงน่าจะแตกต่างจาก “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย” ตามมาตรา ๑๒(๒) ซึ่งจะได้อธิบายในลำดับถัดไป การกระทำความผิดที่เข้ามาตรา ๑๒(๑) กฎหมายให้ระวางโทษหนักขึ้นเป็นจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
ส่วนบทลงโทษที่หนักขึ้นตามมาตรา ๑๒(๒) ไม่ได้พิจารณาจากผลของการกระทำดังที่เขียนไว้ในมาตรา ๑๒(๑) แต่มาตรา ๑๒(๒) พิจารณาจากลักษณะของการกระทำที่จะก่อให้เกิดผล โดยใช้คำว่า “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อ...” ซึ่งถ้อยคำนี้มีใช้อยู่ในความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตาม มาตรา ๒๖๙/๕ และมาตรา ๒๖๙/๖ ของประมวลกฎหมายอาญาและอีกหลายบทมาตราที่ใช้ถ้อยคำในลักษณะทำนองเดียวกัน
ในขณะที่มาตรา ๑๒(๑) พิจารณาจากผลที่ก่อให้เกิดความเสียหาย มาตรา ๑๒(๒) พิจารณาจากลักษณะของการกระทำที่ไปกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่กฎหมายมุ่งให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้
     (๑) ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ
หมายเหตุ ตัวบทใช้คำว่า “หรือ” จึงหมายความว่า เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็เข้าองค์ประกอบแล้ว และเป็นถ้อยคำสามัญที่ตีความตามหลักภาษาไทย
     (๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ถ้อยคำนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ในความเห็นของผู้เขียน การพิสูจน์ความผิดตามองค์ประกอบข้อนี้ โจทก์จะต้องพิสูจน์โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่า ผู้กระทำความผิดรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด คือต้องรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์นั้นมีไว้เพื่อใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นอาจต้องมีประกาศแจ้งเตือนก่อน
การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๒(๒) ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นถึงสามแสนบาท
ส่วนความในวรรคท้ายของมาตรา ๑๒ เป็นบทฉกรรจ์สำหรับการลงโทษที่หนักขึ้นของผู้กระทำผิดตามมาตรา ๑๒(๒) ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คือต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มีข้อสังเกตว่า เหตุฉกรรจ์ตามมาตรา ๑๒ วรรคท้ายที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาฆ่าผู้กระทำต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ หรือ มาตรา ๒๘๙ แล้วแต่กรณี ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด คือประหารชีวิต หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำได้กระทำไปโดยประมาทก็ต้องถือว่าเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ด้วย แต่เนื่องจากโทษตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้หนักกว่าโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ที่กำหนดไว้จำคุกไม่เกินสิบปี จึงต้องใช้บทลงโทษตามมาตรา ๑๒ วรรคท้ายซึ่งหนักกว่า ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ หรือแม่แต่การกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ ก็มีอัตราโทษ คือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ามาตรา ๑๒ วรรคท้าย
การจำหน่ายชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด

     มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือ มาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๓ คือ
     (๑) จำหน่ายหรือเผยแพร่
คำว่า “จำหน่าย” ชัดเจน ส่วนคำว่า “เผยแพร่” นั้นเป็นคำที่กว้างกว่าน่าจะรวมถึงการโฆษณา จ่าย แจก เป็นที่น่าสังเกตว่า “การมีไว้เพื่อจำหน่าย” ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานนี้ อาจเป็นเพราะลักษณะของสิ่งที่มีไว้ยากในการพิสูจน์ว่ามีไว้โดยเจตนาที่
ชอบหรือไม่ชอบ ครั้นจะใช้หลักพิจารณาด้วยปริมาณของการมีไว้แบบยาเสพติดก็ทำไม่ได้เพราะชุดคำสั่งในลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลดิจิตัล
     (๒) ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือ มาตรา ๑๑
ชุดคำสั่งตามมาตรานี้อาจเป็นแบบวัตถุ เช่น ดิสเกตต์ก็ได้ หรือาจเป็นไฟล์ ดิจิตัลก็ได้ ส่วนการใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดนั้นเป็นความผิดตามมาตราหนึ่งมาตราใดก็ได้เพราะตัวบทใช้คำว่า “หรือ”
     (๓) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
เจตนาในที่นี้ หมายถึงเจตนาจำหน่ายหรือเจตนาเผยแพร่ชุดคำสั่งจึงหมายความว่าผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงด้วยว่าชุดคำสั่งนั้นได้จัดทำขึ้น โดยเฉพาะเพื่อเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
ผู้กระทำความผิดมาตรา ๑๓ มีบทระวางโทษไม่รุนแรงนัก คือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำความผิดอื่น

     มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     (๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
     (๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
     (๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
     (๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
     (๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

ปกติแล้วความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จะหมายความเฉพาะความผิดที่กระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชญากรรมได้แทบทุกประเภท ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือเผยแพร่ภาพลามก ซึ่งการกระทำความผิดเหล่านั้นก็จำต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดสำหรับความผิดนั้นๆ เช่นพิจารณาบทบัญญัติจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นอยู่แล้ว แต่ผู้ร่างกฎหมายคงเห็นว่ามีความผิดหลายลักษณะที่ควรบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกประการหนึ่ง จึงได้บัญญัติมาตรา ๑๔ โดยมีองค์ประกอบความผิดที่สำคัญคือ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์” การกระทำผิดตามมาตรานี้จึงต้องพิจารณาว่าอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นอีกด้วยหรือไม่
ความผิดตามมาตรา ๑๔ มี ๕ อนุมาตราจึงเปรียบเสมือนการบัญญัติความผิดขึ้นมาอีก ๕ ลักษณะ ดังนี้
๑. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๑) มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

การนำเข้าสู่ หมายถึงการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
(๒)ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หมายถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นจะทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ส่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเท็จนั้น น่าจะหมายถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ของจริง เช่นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ระบุว่าเป็นเครื่องมือป้องกันไวรัสของบริษัทหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เป็นต้น
(๓) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
องค์ประกอบความผิดนี้มีใช้อยู่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายฐานความผิด เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา ๒๖๔ หรือความผิดฐานปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๒๖๙/๑ องค์ประกอบนี้ไม่ใช่เจตนาพิเศษของผู้กระทำ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำในเรื่องของเจตนาด้วย
(๔) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
เจตนาในที่นี้ต้องครอบคลุมองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการข้างต้น กล่าวคือผู้กระทำต้องมีเจตนานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันผู้กระทำต้องรู้ถึงข้อเท็จจริงในองค์ประกอบความผิดว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและต้องรู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
๒. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๒) มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
องค์ประกอบความผิดเดียวกันกับข้อ ๑๔(๑)
(๒) ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
มาตรา ๑๔(๒) เน้นที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไปปลอมแปลงข้อมูลที่มีอยู่
(๓) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
ความจริงแล้วองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๑๔(๒) ก็ใกล้เคียงและเกลื่อนกลืนกัน การกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิด
ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ก็น่าจะถือได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา ๑๔(๑) อยู่แล้วด้วย
(๔) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
๓. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๓) มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
(๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
องค์ประกอบความผิดข้อนี้พิจารณาจากลักษณะของข้อมูลคอมพิวเตอร์ กล่าวคือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๓๕ หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๕/๑ ถึงมาตรา ๑๓๕/๓
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๓) นี้จึงเป็นการบัญญัติเอาผิดเพิ่มขึ้นจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายโดยในการกระทำความผิดดังกล่าวได้ใช้วิธีการทางคอมพิวเตอร์นำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔(๓) นี้ผู้กระทำอาจต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบทมาตราที่กล่าวมาด้วย
(๓) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
ซึ่งหมายถึงเจตนาในการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม (๑) และรู้ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม (๒)
๔. นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๔) มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
(๒) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
องค์ประกอบความผิดข้อนี้พิจารณาจากลักษณะของข้อมูลคอมพิวเตอร์เช่นกัน คือเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามก
คำว่า “ลามก” เป็นคำสามัญที่ไม่มีการนิยามศัพท์ แต่เป็นคำที่ใช้เป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ ซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่วัตถุอันลามก ดังนั้นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดจะเข้าองค์ประกอบความผิด “ลามก” หรือไม่ จึงใช้มาตรฐานเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๗ ดังกล่าว ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานหลายเรื่องแล้วในเรื่องการพิจารณาลักษณะอันลามก
(๓) ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
การจะเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔(๔) นอกจากข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะอันลามกแล้ว ยังต้องเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้อีกด้วย ดังนั้นหากเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ของตนโดยเฉพาะที่ไม่ได้ประสงค์จะให้ผู้ใดเข้าถึง แต่บังเอิญนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปซ่อม แล้วช่างซ่อมตรวจพบเข้าจึงนำไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และเผยแพร่ดังที่เป็นข่าวคราว เช่นนี้เฉพาะช่างซ่อมเท่านั้นที่มีความผิดตามมาตรา ๑๔(๔)
๕. เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
ความผิดตามมาตรา ๑๔(๕) มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(๑) เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์
องค์ประกอบความผิดนี้แตกต่างจากอนุมาตรา (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ซึ่งเป็นเรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่องค์ประกอบความผิดข้อนี้เป็นเพียงการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ระบบคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมาเพื่อให้มีการส่งต่อหรือเผยแพร่ข้อมูลได้โดยง่าย
คำว่า “เผยแพร่หรือส่งต่อ” เป็นคำสำคัญที่เข้าใจได้แต่ต้องระลึกว่าเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่หมายความรวมถึงการส่งต่อทางกายภาพ เช่นการส่งดิสเกตต์ หรือสั่งพิมพ์ออก (printout)
(๒) โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
การจะเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔(๕) ต้องพิสูจน์ด้วยว่าผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ตนเผยแพร่หรือส่งต่อนั้น เป็นข้อมูลซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
(๓) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙
หมายถึง ผู้กระทำต้องมีเจตนาในการเผยแพร่หรือส่งต่อ
 ผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

     มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

มาตรา ๑๕ เป็นการเอาผิดกับ “ผู้ให้บริการ”


 

มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
     (๑) ผู้ให้บริการ

ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา ๑๕ ต้องเป็น “ผู้ให้บริการ” ซึ่งมีนิยามศัพท์ไว้ในมาตรา ๓ ผู้ให้บริการจึงหมายถึงผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตหรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเองหรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น และยังหมายความรวมถึงผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
     (๒) จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

บทบัญญัติมาตรานี้ใช้ถ้อยคำ “จงใจ” ซึ่งเป็นคำที่เพิ่มขึ้นมาจาก “เจตนา” โดยมีเจตนารมณ์ที่จะเน้นให้เห็นว่า “จงใจ” นั้นหมายถึงต้องรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ เช่นมีการเตือนหรือแจ้งให้ทราบแล้วว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔ เมื่อผู้ให้บริการยังปล่อยให้มีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ก็จะถือได้ว่าเป็นการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด
     (๓) ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน

ข้อนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเอาผิดเฉพาะผู้ให้บริการที่กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนเท่านั้น ๒๖
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการหรือผู้ใดก็ตามหากมีการกระทำอันเป็นการสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ไม่ว่าในระบบคอมพิวเตอร์ของตนหรือของผู้ใดก็อาจต้องรับผิดตามหลักเรื่องตัวการ หรือผู้สนับสนุนตามหลักในประมวลกฎหมายอาญาได้
     (๔) เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙

มีข้อสังเกตว่า ถึงแม้มาตรา ๑๕ จะได้บัญญัติองค์ประกอบความผิดว่า “จงใจ” แล้วก็ตาม แต่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ ด้วย ซึ่งถึงแม้จะดูเป็นองค์ประกอบความผิดที่ซ้ำซ้อนกัน แต่คณะกรรมาธิการเห็นควรให้คงไว้เพื่อเน้นย้ำว่าการที่จะเอาผิดกับผู้ให้บริการตามมาตรานี้ได้จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของตนเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ แล้วยังยินยอมหรือสนับสนุนให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของตนอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น